โรงพยาบาลทุ่งใหญ่

head images about

 ท้องผูกเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยพบประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า

 

 

      ท้องผูก คือ อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก อาการท้องผูกในแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกันไป

      บางคนมาด้วยถ่ายอุจจาระยากต้องเบ่ง ถ่ายแข็ง หรือบางคนมาด้วยอาการนานๆ ถ่ายครั้งหนึ่ง และบางคนอาจมีอาการของลำไส้แปรปรวน ได้แก่ อาการปวดท้อง ท้องอืดร่วมด้วยกับอาการท้องผูกได้

      สาเหตุของการเกิดโรคก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องของโรคประจำตัว หรือการใช้ยาบางชนิด ก็ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

เช่น
     - ยา ได้แก่ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาแก้ปวดท้องบางชนิด
     - อาหารเสริม เช่น แคลเซียมหรือธาตุเหล็ก เป็นต้น
     - โรคทางต่อมไร้ท่อ ได้แก่ โรคไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น
     - โรคทางระบบทางเดินอาหารเอง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

รักษาโดยปรับพฤติกรรม

1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
2. ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
4. ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพราะหากทำเป็นประจำจะทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกได้
5. อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้

การรักษาด้วยยา

เมื่อปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาได้ ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบาย หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ ท่านั่งที่ดี ก็ช่วยให้การขับถ่ายทำได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งท่าที่เหมาะที่สุดคือท่านั่งยอง ๆ เนื่องจากเป็นท่าที่ลำไส้ทำมุมตรงกับการขับถ่าย แต่หากใช้ชักโครกแบบนั่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการงอเข่าเข้าหาลำตัว หรือหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาวางไว้เพื่อช่วยยกขาให้สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายการถ่ายอุจจาระขึ้นอยู่กับสุขภาพและลักษณะร่างกายของแต่ละคน หากสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวด แม้จะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน ก็ยังไม่ถือว่ามีอาการท้องผูก แต่หากมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ถ่ายเหลว ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม มีก้อนเล็กลง หรือมีเลือดปน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง